วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เกาะกระแส AEC เรื่องที่ SMEs ควรรู้


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

          ชั่วโมงนี้ใคร ๆ ต่างก็พูดถึง “AEC” สำหรับชาว SMEs เอง หลายธุรกิจเริ่มที่จะปรับแผนและพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อรองรับ AEC กันแล้ว แต่หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจว่า AEC คืออะไร และจะส่งผลต่อธุรกิจของท่านอย่างไร นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวยจึงขอเกาะกระแส AEC ด้วยการนำเสนอสกู๊ปพิเศษ เพื่อเป็นความรู้และแนวทางในการปรับตัวให้กับธุรกิจ SMEs

          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ “AEC” (ASEAN Economic Community) เป็นการพัฒนามาจากการเป็น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Nations : ASEAN) ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีประเทศผู้ก่อตั้งแรกเริ่ม 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาในปี 2527 บรูไน ก็ได้เข้าเป็นสมาชิก ตามด้วย 2538 เวียดนาม ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิก ต่อมาปี 2540 ลาวและพม่าเข้าร่วม และปี 2542 กัมพูชาก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ทำให้ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกันเกือบ 500 ล้านคน

          จากนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่อินโดนีเซีย เมื่อ 7 ต.ค. 2546 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ

 1.    ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC)

 2.    ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Socio-Cultural Pillar)

 3.    ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar)


          โดยคำขวัญของอาเซียน คือ “One Vision, One Identity, One Community.” หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม

          เดิมกำหนดเป้าหมายที่จะตั้งขึ้นในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงกันเลื่อนกำหนดให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558 และก้าวสำคัญต่อมาคือการจัดทำปฏิญญาณอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2552 นับเป็นการยกระดับความร่วมมือของอาเซียนเข้าสู่มิติใหม่ในการสร้างประชาคม โดยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางกฎหมายและมีองค์กรรองรับการดำเนินการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2558

          ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน สำหรับเสาหลักการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรี และเงินทุนที่เสรีขึ้น ต่อมาในปี 2550 อาเซียนได้จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เป็นแผนบูรณาการงานด้านเศรษฐกิจให้เห็นภาพรวมในการมุ่งไปสู่ AEC ซึ่งประกอบด้วยแผนงานเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ พร้อมกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ จนบรรลุเป้าหมายในปี 2558 รวมทั้งการให้ความยืดหยุ่นตามที่ประเทศสมาชิกได้ตกลงกันล่วงหน้า ในอนาคต AEC จะเป็นอาเซียน+3 โดยจะเพิ่มประเทศ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามาอยู่ด้วย และต่อไปก็จะมีการเจรจา อาเซียน+6 จะมีประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียต่อไป


 จุดเด่นและข้อได้เปรียบของไทยในตลาด AEC
          สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีจุดเด่นและข้อได้เปรียบที่ดีกว่าประเทศอื่นในอาเซียน คือ แม้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาบางด้านแต่ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความได้เปรียบและมีจุดแข็งหลายด้านเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน พิจารณาได้จากขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมที่จัดทำโดยสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาด้านการจัดการในปี 2554 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นรองเฉพาะประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียทั้งนี้ สามารถแบ่งเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้

 1.    ด้านการท่องเที่ยว พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก โดยกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าประเทศไทยได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยว Grand Travel Award Stockholm ประจำปี ค.ศ. 2011 สาขาประเทศท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุด (Best Tourist Country) และเป็นปีที่ 9 ที่ไทยได้รับรางวัลดังกล่าวติดต่อกัน

 2.    ด้านตลาดแรงงาน พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือน ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.4 ของประชากรที่อยู่ในวัยแรงงาน ขณะที่ประสิทธิภาคของแรงงาน (Labor Productivity) ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ขณะเดียวกัน รายได้ประชากรต่อหัวของไทยที่ได้รับโดยเฉลี่ยก็อยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ต่ำกว่าเฉพาะสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย

 3.    ทำเลที่ตั้ง ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านยุทธศาสตร์การคมนาคมอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งได้เปรียบการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ จากแหล่งทำเลที่ตั้งในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงแหล่งทำเลที่ตั้งในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินและคมนาคมทางบกที่จะเชื่อมประเทศคาบสมุทรอินโดจีนและเชื่อมโยงเอเซียเหนือโดยเฉพาะจีนกับเอเซียตะวันตกโดยเฉพาะอินเดียเข้าด้วยกันหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยต้องให้ความสนใจกับการเพิ่มผลิตภาพทั้งด้านการศึกษาและทักษะที่สูงขึ้น เพราะในขณะนี้ประสิทธิภาพการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นช้า หากเกิดการขาดแคลนแรงงานจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราต่ำ

 4.    ขนาดของตลาด ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีตลาดขนาดใหญ่ ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมากในอนาคตโดยเฉพาะประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงถึง 66.7 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่มีประชากร 245.6 ล้านคน 101.8 ล้านคน และ 90.5 ล้านคน ตามลำดับขณะที่เมื่อพิจารณาโครงสร้างอายุประชากรของประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว พบว่า มีความคล้ายคลึงกันโดยประชากรส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ประมาณร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งไทยได้ผูกพันเปิดตลาดทั้งหมด 143 รายการ ตามข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งครอบคลุมสาขาบริการหลัก อาทิ บริการวิชาชีพ (ได้แก่ วิชาชีพวิศกรรม สถาปัตยกรรม และบัญชี เป็นต้น) คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร การก่อสร้าง การจัดจำหน่าย (อาทิ บริการค้าส่งเครื่องกีฬาและบริการแฟรนไซน์ เป็นต้น) การศึกษาในทุกระดับ บริการด้านสุขภาพ บริการสิ่งแวดล้อม และบริการท่องเที่ยว เป็นต้น ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์ของประเทศโดยใช้จุดแข็งที่กล่าวมาแล้วให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC มากที่สุด

          แม้ว่าประเทศไทยมีจุดเด่นและข้อได้เปรียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่ประเทศไทยก็ยังต้องเตรียมพร้อมอีกหลายด้าน เช่น ในด้านภาษีซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยอยู่ที่ 30% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่ก็จะมีการปรับลดลงเหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ระบบภาษีของไทยเอื้ออำนวยต่อการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ เพื่อให้เติบโตต่อไปได้ตามการขยายตัวของสินค้าในตลาดโลก


          นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวยฉบับหน้า จะพูดถึง “การปรับตัวและกลยุทธ์ รับ AEC สำหรับธุรกิจ SMEs” รวมถึงอีกหลากหลายบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจติดตามกันได้ในฉบับเดือนมกราคม 2556

ที่มา หนังสือSMEs ชี้ช่องรวย ปีที่ 9 ฉบับที่ 98 ธันวาคม 2555

ส้มตำ กินอย่างไรให้แซบและได้ประโยชน์

ส้มตำ กินอย่างไรให้แซบและได้ประโยชน์


       "ส้มตำ ยังเป็นอาหารรสชาติจัดจ้าน ยอดนิยมของคนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย หาใช่เพียงรสชาติที่แซบ ถึงอกถึงใจเท่านั้น ส้มตำถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เมนูหนึ่งที่มีไขมันและให้พลังงานต่ำ แต่มีใยอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากแต่ต้องปรุงรสชาติให้พอเหมาะพอควร"

      ส้มตำหนึ่งจานมีส่วนผสมของผัก สมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมะละกอ กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู ถั่วฝักยาว ฯลฯ ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัยด้วย

      แม้ว่าส้มตำจะมีรสชาติ เปรี้ยว หวาน และเค็ม อร่อยถูกปากคนไทย แต่การบริโภคส้มตำเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จึงต้องกินอาหารอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยคือ ข้าวเหนียว ขนมจีน ไก่ย่าง หมูย่าง หรือลาบต่าง ๆ ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน 

     ส้มตำเป็นอาหารสด ไม่ผ่านความร้อน (Low Food) เรื่องความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง หากไม่สะอาด มีการปนเปื้อน อาจทำให้ท้องเสียได้ ส่วนเครื่องปรุงต่าง ๆ ต้องสังเกตเชื้อราที่อาจปะปนอย่าง "อะฟลาทอกซิน" ซึ่งมักจะมีอยู่ในถั่วลิสง กุ้งแห้ง กระเทียม ซึ่งเชื้อชนิดนี้เป็นโทษร้ายแรงต่อตับ การเลือกรับประทานควรสังเกตความสะอาดด้านสุขาภิบาลของร้านค้าด้วย
      ส่วนปลาร้าเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง แต่หลายคนมักสงสัยว่า จะกินปลาร้าสุกหรือดิบ ดี ถ้าหากเลือกได้ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า หรือปูเค็ม ควรจะกินแบบสุกดีกว่า และควรสังเกตความสะอาดของปูและภาชนะที่บรรจุด้วย

     ส้มตำกินบ่อย ๆ ดีหรือไม่

      แน่นอนว่า ส้มตำไม่ใช่อาหารที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้น ไม่ควรรับประทานบ่อยมากจนเกินไป ควรสลับสับเปลี่ยนกับอาหารประเภทอื่น ๆ บ้าง ควรกินประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือหากส้มตำมีส่วนผสมของปูดองเค็ม หรือปลาร้า ก็กินได้อาทิตย์ละครั้ง ถ้ามากกว่านั้น ควรเป็นแบบสุกจะดีกว่า

      สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต อ.แววตา แนะนำว่า สามารถกินได้ แต่ไม่ควรบ่อยนัก เนื่องจากส้มตำมีโซเดียมสูง หรือกินได้โดยไม่ปรุงรสด้วยน้ำตาล หรือใส่ในปริมาณน้อย และไม่ควรปรุงรสให้เค็ม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ห้ามใส่ผงชูรส เพราะเป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูงมากนั่นเอง

      ก่อนกินส้มตำทุกครั้งไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง ควรกินข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรืออาหารอื่น ๆ รองท้อง เนื่องจากมะละกอจะมียาง ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เนื้อสัตว์เปื่อยนุ่มได้ หากกินขณะท้องว่างจะทำให้ปวดท้อง เนื่องจากยางมะละกอส่งผลต่อกระบวนการย่อยกัดเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ และอีกหนึ่งข้อแนะนำสำคัญคือ ควรสอนเด็ก ๆ หากกินส้มตำ ควรเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อให้ย่อยอาหารง่ายขึ้น เพราะมะละกอค่อนข้างย่อยยาก